วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

การปรับสภาพดินให้เหมาะกับเกษตรอินทรีย์(3)

การใช้ปุ๋ยคอกในการปรับสภาพดิน
ปุ๋ยคอกเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชที่หาได้ง่ายและราคาถูก เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยง โค กระบือ ไก่ เป็ด และสุกร ทำให้ได้มูลสัตว์เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาผ่านกระบวนการหมักแล้ว สามารถนำเอาไปใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรกรได้ทันที ในปุ๋ยคอกมีจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุ วิตามิน และฮอร์โมนพืชบางชนิด แต่เมื่ออินทรียวัตถุถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายแล้ว ทำให้ธาตุอาหารบางส่วนละลายไปกับน้ำและบางส่วนระเหยเป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจนเปลี่ยนอยู่ในรูปก๊าซแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน ในปุ๋ยคอกแต่ละชนิดมีธาตุอาหารพืชไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์

ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชในปุ๋ยคอกแต่ละชนิด

ชนิดของปุ๋ยคอก ไนโตรเจน (%) ฟอสฟอรัส (%) โพแทสเซียม (%)

มูลโค 1.91 0.56 1.40

มูลกระบือ 1.23 0.69 1.66

มูลไก่ 3.77 1.89 1.76

มูลเป็ด 2.15 1.33 1.15

มูลสุกร 3.11 12.20 1.84

มูลค้างคาว 5.28 8.42 0.58

การ ใช้ปุ๋ยคอกมีข้อดี คือ เป็นวัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก แต่การนำเอาปุ๋ยคอกไปใส่ให้กับต้นพืชโดยตรงอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมักในดินและแรงดันออสโมติก เนื่องมาจากความเข้มของแร่ธาตุทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำทางราก และเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ดังนั้นควรนำปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดการย่อยสลาย และไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ระหว่าง การหมักปุ๋ยคอกความร้อนที่เกิดขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียสจะช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคที่ติดมากับมูลสัตว์ได้อีกด้วย จึงเป็นการลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะพวกผักสดต่างๆ ซึ่งมักประสบปัญหาเมื่อส่งออกแล้วตรวจพบเชื้อก่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดิน อาหาร ทำให้ต่างประเทศลดความน่าเชื่อถือ การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินอาจใช้ได้ตั้งแต่ 1 – 3 ตันต่อไร่ต่อครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น